ยูเครนเรียกร้องต้องการอาวุธเพิ่ม

ทั้งนี้ คาดว่ารัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) จะหารือแนวคิดการจัดซื้อกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มม. ที่เป็นที่ต้องการอย่างมากของเคียฟ ร่วมกันระหว่างการประชุมที่บรัสเซลส์ในวันจันทร์ (20 ก.พ.)

เจ้าหน้าที่และนักการทูตของอียูเผยว่า แนวทางดังกล่าวอาจมีประสิทธิภาพมากกว่าที่สมาชิกแต่ละชาติจะแยกกันจัดซื้อ นอกจากนั้น คำสั่งซื้อล็อตใหญ่ยังช่วยให้อุตสาหกรรมทุ่มลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต

ยูเครนเรียกร้องต้องการอาวุธเพิ่ม

ระหว่างการประชุมความมั่นคงในมิวนิกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (18 ก.พ.) ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีผู้วางนโยบายด้านความมั่นคง เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เรียกร้องให้สมาชิกอียูร่วมมือกันเพื่อจัดหากระสุนเพิ่มให้ยูเครนโดยเร็วที่สุด และเสริมว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเร่งและยกระดับการผลิตผลิตภัณฑ์พื้นฐานที่ยูเครนต้องการอย่างมาก

แม้คาดว่าจะยังไม่มีการตัดสินใจในการประชุมในวันจันทร์ ทว่า นักการทูตและเจ้าหน้าที่อียูเชื่อว่า ที่ประชุมมีความปรารถนาแรงกล้าในการผลักดันแนวคิดนี้อย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่อียูคนหนึ่งบอกว่า อียูให้ความสนใจกับวิธีเพิ่มกำลังผลิต จัดซื้อกระสุนร่วม และวิธีจ่ายค่ากระสุนเหล่านั้น

การหารือได้แรงกระตุ้นหลังจากประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เรียกร้องระหว่างการประชุมกับผู้นำอียูในการประชุมสุดยอดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วให้เร่งจัดส่งอาวุธให้เคียฟ และเอสโตเนียเสนอให้อียูจัดซื้อร่วมสำหรับกระสุนขนาด 155 มม. ที่ใช้สำหรับปืนใหญ่อย่างเช่น ฮาวอิตเซอร์

ความพยายามในการจัดซื้อร่วมมีเป้าหมายเพื่อเติมเต็มสต๊อกอาวุธของพันธมิตรของเคียฟที่ร่อยหรอลงอย่างมากหลังจากจัดส่งกระสุนให้ยูเครนสู้รบกับรัสเซียมา 1 ปีเต็ม

เจนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ยูเครนใช้กระสุนหมดเร็วกว่าที่พันธมิตรสามารถผลิตได้

ขณะนี้กองกำลังยูเครนใช้กระสุนปืนใหญ่วันละ 2,000-7,000 นัด ขณะที่รัสเซียใช้ 20,000-70,000 นัด ทั้งนี้ จากข้อมูลของหนังสือพิมพ์ในเอสโตเนีย

นักการทูตอียูคนหนึ่งระบุว่า อย่างน้อยเงินอัดฉีดบางส่วนอาจมาจากยูโรเปียน พีซ ฟาซิลิตี้ ซึ่งเป็นกองทุนความช่วยเหลือทางทหารของอียู

นอกจากนี้ เอสโตเนียยังเสนอใช้กองทุนนี้ที่ได้รับอนุมัติจำนวน 5,200 ล้านดอลลาร์สำหรับการสนับสนุนยูเครน ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากการอัดฉีดของสมาชิกแต่ละชาติของอียู

เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของอียูเผยว่า โจเซฟ บอร์เรลล์ ประธานด้านนโยบายต่างประเทศของอียู และหน่วยงานการทูตมองว่า ข้อเสนอของเอสโตเนียอาจเป็นแนวคิดที่ดีมาก

ปกติแล้ว การจัดซื้ออาวุธส่วนใหญ่จะสงวนสิทธิเป็นอำนาจการตัดสินใจของรัฐบาลแต่ละชาติในอียู อย่างไรก็ตาม สำนักงานกลาโหมยุโรป (อีดีเอ) เข้าร่วมในความพยายามจัดซื้อร่วมในปี 2014 กับสมาชิกอียู 5 ชาติเพื่อซื้อกระสุนสำหรับอาวุธต่อต้านรถถัง และครั้งนี้ยังเสนอตัวเป็นแกนนำในการจัดซื้อกระสุนร่วม

นักการทูตและเจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุว่า อียูจะจัดซื้อร่วมเป็นมูลค่าเท่าใด โดยหนังสือพิมพ์ของเอสโตเนียชี้ว่า อาจมีการจัดซื้อกระสุขขนาด 15 มม. 1 ล้านนัดในปีนี้คิดเป็นเงินราว 4,000 ล้านยูโร

 

ติดตามอ่านข่าวรอบโลกได้ที่  raymaterson.com